งานบริการวิชาการและวิจัย
Academic Services and Research

 

สถานการณ์ความผันแปรของสภาพอากาศ ของประเทศไทยตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2553 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้นั้น เป็นที่แน่ชัดว่า เกิดจากอิทธิพลของลานีญา (La Nina) ทั้งนี้เพราะความผันแปรของสภาพอากาศตลอดปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ สองสามประการที่บ่งชี้ว่า ต้นเหตุเกิดจากอิทธิพลของลานีญา อย่างแน่นอน ดังนี้

   ประการแรกคือ อุณหภูมิอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ ปี พ.ศ. 2554 อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยมีความผันแปรผิดปกติ มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพราะเป็นปีที่มีอากาศหนาวยาวนานจนถึงกลางเดือน มีนาคม ซึ่งนับว่าผิดปกติอย่างมาก เนื่องจาก ปกติในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศจะหนาวเย็น ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมจัดเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย แต่กลางเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2554 เกิดอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างฉับพลันทั่วทุกภาคของประเทศ

   สาเหตุมาจากลมตะวันตกกำลังแรงที่พัดมาจากเทือกเขาหิมาลัยผ่านเข้ามาทางตอน เหนือของประเทศไทย และปะทะเข้า กับมวลอากาศเย็นของความกดอากาศสูงกำลังแรงที่แผ่ลงมาจากประเทศจีนเข้าปกคลุม ประเทศไทยหลายระลอก จากการตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงดังกล่าวอุณหภูมิอากาศต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสเกือบทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง (ตั้งแต่กรุงเทพฯขึ้นไป) และมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เกือบทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและบางจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอน ล่างและภาคอีสาน จึงทำให้กล่าวได้ว่า เกิดอากาศหนาวกลางฤดูร้อน ขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554

   เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเป็นอิทธิพลโดยตรงของลานีญา ซึ่งตรงกันข้ามกับปีที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง เพราะปี พ.ศ. 2553 จัดเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบทศวรรษของประเทศไทย (แม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 6) โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนสูงถึง 30.8 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าปกติถึง 1.4 องศาเซียลเซียส จัดเป็นอันดับสองรองจากปี พ.ศ. 2501 เท่านั้น และอุณหภูมิสูงสุดที่ตรวจวัดได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ที่ อ.เมือง จ.ตาก สูงถึง 43.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทย (44.5 องศาเซลเซียส)

 ประการที่สอง ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ฤดูฝนของปี พ.ศ. 2554 มีฝนตกชุกมากและผิดปกติมากที่สุด โดยภาพรวมของทั้งประเทศ ฤดูฝนปีนี้มีปริมาณฝนสะสมสูงถึง 1,822 มม. ซึ่งสูงกว่าค่าปกติ ถึงร้อยละ 28 โดยภาคอีสานมีฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 24 ขณะที่ภาคกลางสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 26 และสูงกว่าค่าปกติมากถึงร้อยละ 42 สำหรับภาคเหนือ นี่คือต้นเหตุที่แท้จริงของมหาอุทกภัยในปีนี้ เพราะตามปกติฤดูฝนในส่วนพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย (ทั่วทั้งประเทศยกเว้นภาคใต้) จะอยู่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยแต่ละเดือนจะมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 100 มม.ขึ้นไป

   แต่ปีนี้กลับมีฝนตกหนักตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งนับว่า ผิดปกติเป็นอย่างยิ่งเพราะยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน (แล้ง) โดยเฉพาะ ในภาคเหนือและภาคกลางมีฝนตกในเดือนนี้มากกว่าค่าปกติถึงสามเท่า และตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนตุลาคมก็ยังมีฝนตกมากกว่าค่าปกติทุกเดือน ด้วย ยกเว้นเพียงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมของภาคกลางเท่านั้น ที่มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติเพียงเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้สถานการณ์มหาอุทกภัยผ่อนคลายลงได้ ไม่เช่นนั้นมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้คงยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกจนถึงสิ้น ปีอย่างแน่นอน เหตุการณ์เหล่านี้ยืนยันถึงอิทธิพลโดยตรง ของลานีญาอย่างชัดเจน

   ในปี พ.ศ. 2554 นี้ มีฝนตกหนักผิดปกติในเดือนมีนาคมของพื้นที่ภาคใต้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5 ถึง 10 เท่า (ทำลายสถิติ มากมายเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่) ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขึ้นในเดือนมีนาคม เหตุการณ์นี้จึงต้องถูกบันทึกเป็น น้ำท่วมกลางฤดูแล้งของภาคใต้ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่า จะเกิดขึ้นได้อีกโดยง่าย แต่เป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงอิทธิพล ของลานีญาอย่างชัดเจนอีกเช่นกัน

   ส่วนฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในช่วงเดือนธันวาคม และเดือนมกราคมนั้น แม้จะถือเป็นเรื่องปกติ แต่ปริมาณฝนที่ตก ก็ค่อนข้างมาก (สูงกว่าค่าเฉลี่ย) ในหลายพื้นที่ และนอกจากนี้ยังมี ปรากฏการณ์คลื่นลมแรงตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย) บางพื้นที่มีคลื่นสูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งแถบจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา และแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายเป็นอันมาก

   ประการที่สาม ความแปรปรวนของพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ปี พ.ศ. 2554 พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวค่อนข้างมากในช่วงต้นฤดู แต่กลับขาดหายไปอย่างรวดเร็วในช่วง ท้ายฤดู (โดยปกติช่วงฤดูพายุหมุนเขตร้อนจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม) และที่ยิ่งผิดปกติไปกว่านั้นก็คือ ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเคยเป็นช่วงที่มักมีพายุหมุนเขตร้อน เข้าถึงประเทศไทยได้และมักสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย แทบทุกปี แต่ปีนี้กลับไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ในเดือนตุลาคมจะเกิดพายุโซนร้อนบันยัน (Ban Yan) ขึ้นในทะเลจีนตอนใต้แต่ก็สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว และแม้แต่พายุไต้ฝุ่นวาชิ (Washi) ที่ก่อตัวขึ้นในเดือนธันวาคม สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ตอนใต้อย่างมากมายมหาศาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน แต่พายุวาชิก็มาสลายตัวในทะเลจีนตอนใต้ใกล้ๆ ประเทศเวียดนาม แม้ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าอิทธิพลของลานีญามีผลต่อการก่อตัวและการเคลื่อนที่ของ พายุหมุนเขตร้อนโดยตรง แต่ความแปรปรวนที่ปรากฏก็น่าเชื่อได้ว่า อิทธิพลของลานีญาน่าจะมีส่วน เกี่ยวข้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

   แม้ปรากฏการณ์ ลานีญา ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 นี้จะมี ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางก็ตาม แต่เป็นลานีญา ที่เกิดขึ้น ทันทีที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (EL Nino) สิ้นสุดลง และคงสภาวะอยู่เป็นเวลาที่ยาวนานกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะปกติลานีญา จะเกิดขึ้นและยุติลงภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี แต่ครั้งนี้เกิดปรากฏการณ์ ลานีญา ขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2553 และคงสภาพยาวนานข้ามปี พ.ศ. 2554 และจากการติดตามสถานการณ์ ENSO (El Nino / La Nina) อย่างใกล้ชิดของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ขณะนี้ ศูนย์พยากรณ์ส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ลานีญา จะยังคง สภาวะอยู่ต่อไปจนถึงกลางปี พ.ศ. 2555 รวมเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ ครั้งนี้จึงยาวนานถึง 2 ปี (ถ้าหากสถานการณ์ยุติลงตามที่ได้คาดการณ์ไว้) ซึ่งนับได้ว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ลานีญา ที่เกิดยาวนานมากผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยยังคงต้อง ถูกคุกคามจากอิทธิพลของลานีญาต่อไปอีกครึ่งปีเป็นอย่างน้อย

   ดังนั้น ปี พ.ศ. 2555 นี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นและฝนตกหนักกว่าปกติ และต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยต่อไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร

ปรับปรุงข้อมูล : 1/1/2557 0:00:00     ที่มา : งานบริการวิชาการและวิจัย     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 2942

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด

ประกาศผลโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2562
ตามที่คณะกรรมการบริหารงานบริการวิชาการและวิจัยได้เปิดรับสมัครทุนอุดหนุนการวิจัย เงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ 2562  เพื่อดำเนินโครงการวิจัยภายในคณะฯ และตอบสนอง ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย นั้นในการนี้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานบริการวิชาการและวิจัยคณะฯ  ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 15  มีนาคม  2562  ได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้ประกาศผลโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนวิจัย โดยปรับลดงบประมาณโครงการวิจัยจากโครงการละ 30,000  บาท เป็นโครงการละ 25,000  บาท ทั้งนี้ ขอให้หัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนวิจัย มารับผลการประเมินโครงการได้ที่งานบริการวิชาการและวิจัย ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18  มีนาคม 2562  และส่งข้อเสนอโครงการฉบับแก้ไขภายในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2562  ตามรายละเอียดที่แนบมาพร้อมนี้Download เอกสาร1. ประกาศผลโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2562
15 มีนาคม 2562     |      6084