งานบริการวิชาการและวิจัย
Academic Services and Research
เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็ก (เชียงใหม่ธุรกิจ) รศ.บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร 2012-03-22
เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็ก มหาวิทยาลัย.แม่โจ้ ช่วยลดปัญหาการเผากิ่งไม้ ใบไม้ แถมได้ปุ๋ยหมักใช้ฟรี รองศาสตราจารย์บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การเผากิ่งไม้และใบไม้ ตามชุมชนและบ้านเรือน เนื่องจากปัญหาควันไฟ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ มีปัญหามลพิษทางอากาศค่อนข้างมาก สาเหตุหนึ่งมาจากการเผากิ่งไม้และใบไม้ตามชุมชนและบ้านเรือน เนื่องจากประชาชนไม่สามารถจะจัดการกับกิ่งไม้และใบไม้ได้ ทำให้เจ้าของบ้านบางหลังก็นำเอากิ่งไม้ ใบไม้ ไปกองสุมหรือนำไปทิ้งเอาไว้ในบริเวณที่ดินว่างเปล่าของผู้อื่นส่งผลให้เป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษและเชื้อ โรคต่างๆ เจ้าของบ้านบ้างหลังที่ไม่มีที่ให้กองสุมหรือนำไปทิ้งในที่ดินว่างเปล่าของ ผู้อื่น ก็จะเผาทำลาย จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ดังที่ได้ประสบมา ดังนั้น ถ้ามีการหั่นย่อยกิ่งไม้และใบไม้แล้ว ก็จะทำให้พื้นที่ในการกองกิ่งไม้และใบไม้ลดลง นอกจากนี้ ยังสามารถนำกิ่งไม้และใบไม้ไปทำปุ๋ยหมักหรือเป็นวัสดุคลุมดินได้ แต่เครื่องหั่นย่อยที่มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้าง แพง ขนาดใหญ่ และใช้ต้นทุนสูง จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในบ้านเรือน ส่วนเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายก็มีปัญหา ขาดความแข็งแรง ทนทาน และความยุ่งยากในการซ่อมบำรุง เนื่องจากอะไหล่บางชนิดหายาก เช่น มอเตอร์ สวิตช์ และใบมีด เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปไม่มั่นใจในการนำเครื่องหั่นย่อยที่นำเข้าจาก ต่างประเทศไปใช้งาน จากข้อมูลข้างต้นและจากข้อมูลที่ได้สำรวจ พบว่า ประชาชนทั่วไปมีความต้องการใช้เครื่องหั่นย่อยเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ติดปัญหาที่เครื่องมีราคาค่อนข้างแพง และไม่มั่นใจในการซ่อมบำรุง ดังนั้น ถ้ามีการออกแบบเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กให้มีราคาถูก ซ่อมบำรุงรักษาง่าย และมีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ในการเก็บน้อย ก็จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความสนใจที่จะหันมาหั่นย่อยกิ่งไม้และใบไม้เพื่อ ใช้ทำปุ๋ยหมักหรือเป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาทำลาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ และลดการขาดดุลเงินตราจากการนำเข้าเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กจากต่างประเทศ รองศาสตราจารย์บัณฑิต กล่าวอีกว่าดังนั้น จึงได้ออกแบบและสร้างเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กขึ้น จากการสนับสนุนโครงการวิจัยโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ชาติ เครือข่ายภาคเหนือ การทดสอบใช้กิ่งมะม่วง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 1.5 นิ้ว โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1.5 แรงม้า เท่านั้น และใบไม้แห้งเป็นวัสดุในการทดสอบ พบว่า สามารถหั่นย่อยกิ่งมะม่วงได้ 252 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง และย่อยใบไม้แห้งได้ 48 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง หรือ 1.58 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง (ประมาณ 20 เข่ง ต่อชั่วโมง) เมื่อย่อยใบไม้แห้งแล้วปริมาตรจะลดลง 60-70 เปอร์เซ็นต์ (จากใบไม้แห้งก่อนย่อย 20 เข่ง จะเหลือเพียง 6-7 เข่ง) โดยเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กนี้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มีความทนทาน และซ่อมบำรุงรักษาง่าย นอกจากนี้ เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2552 ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ภายหลังจากการทำวิจัยแล้วเสร็จ ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตร และได้ผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้งาน โดยมีผู้ซื้อไปใช้งานแล้วจำนวนหลายราย นอกจากจะได้เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กแล้ว ยังได้ศึกษากระบวนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ซื้อเครื่องไปใช้งาน สามารถนำวัสดุที่ย่อยแล้วไปทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในบ้านหรือในหน่วยงานได้ โดยกระบวนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายนี้ ได้เผยแพร่ไปแล้ว ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากกระบวนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายนี้ ไม่ซับซ้อน ทำง่าย ไม่ต้องดูแลมากนัก ใช้ระยะเวลาในการหมักน้อย โดยการทำปุ๋ยหมักมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้งหรือสด และการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร สำหรับรายละเอียดวิธีการทำปุ๋ยหมักเข้าถึงได้ใน www.machinery.mju.ac.th หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ รองศาสตราจารย์บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290 โทร. (053) 878-123 หรือ (081) 595-4432 หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ โทร. (053) 226-264 ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยสามารถนำกิ่งไม้และใบไม้มาย่อย แล้วนำไปทำปุ๋ยหมักหรือเป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาทำลาย ที่มา : รองศาสตราจารย์บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร 2012-03-22
1 มกราคม 2557     |      2556
อุทกภัยจากพายุหมุนเขตร้อนไหหม่าและนกเตน
อุทกภัยจากพายุหมุนเขตร้อนไหหม่าและนกเตน  ปี พ.ศ. 2554 อาจจัดเป็นปีแห่งอุทกภัยของประเทศไทย ได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา จากกรณีของอุทกภัย อันเนื่องจากฝนตกหนักช่วงท้ายฤดูฝนในภาคใต้ ที่ต่อเนื่อง กันมาจากปลายปี 2553 จนถึงต้นปีนี้ ตามมาด้วยอุทกภัยกลางฤดูแล้งของภาคใต้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดอุทกภัยจากพายุหมุนเขตร้อนอีก 2 ครั้ง 2 ครา คือ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (ลุ่มน้ำยมและ ลุ่มน้ำน่าน) จากอิทธิพลของพายุไหหม่า และในพื้นที่ทุกลุ่มน้ำของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จากอิทธิพลของพายุนกเตน   พายุ โซนร้อนไหหม่า นับเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกแรก ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสภาพอากาศของประเทศไทยในปีนี้ ไหหม่า (Haima) เป็นชื่อที่ตั้งโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความหมายว่า ม้าน้ำ พายุลูกนี้มีความเร็วลมสูงสุด อยู่ในระดับพายุโซนร้อน (ไม่ถึงระดับไต้ฝุ่น) ชื่อของ ไหหม่าจึงถูกนำด้วยคำว่า พายุโซนร้อน พายุโซนร้อนไหหม่า เคลื่อนที่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทะเลจีนใต้ตอนบนเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย จากนั้นขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงค่ำวันที่ 24 มิถุนายน 2554 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวตอนบน ก่อนจะสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของ ประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554   ส่วน พายุไต้ฝุ่นนกเตน นับเป็นพายุหมุนเขตร้อน ลูกแรกที่เข้าถึงประเทศไทยได้ในปีนี้ นกเตน(Nock-ten) เป็นชื่อที่ตั้งโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็น ชื่อของนกชนิดหนึ่ง พายุนี้มีความเร็วลมสูงสุดอยู่ในระดับพายุไต้ฝุ่น ชื่อของนกเตนจึงถูกนำด้วยคำว่า พายุไต้ฝุ่น แต่พายุไต้ฝุ่นนกเตนเข้าถึงประเทศไทยที่ภาคเหนือ (จ.น่าน) ในระดับของพายุดีเปรสชั่นเท่านั้น   พายุ ไต้ฝุ่นนกเตน เคลื่อนที่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทะเลจีนใต้ตอนกลาง แต่อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ก่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น   ขณะ เคลื่อนที่ผ่านประเทศลาว เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.น่าน และ สลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือ ตอนบนช่วงวันที่ 1-3 สิงหาคม 2554 ตามลำดับ   อิทธิพล ของพายุโซนร้อนไหหม่าทำให้เกิดฝนตกหนัก เป็นบริเวณกว้างในเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และตาก โดยปริมาณฝนสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมง วัดได้ที่ อ.ปัว จ.น่าน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 สูงถึง 335.2 มิลลิเมตร เป็นเหตุให้เกิด น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำน่านและ ลุ่มน้ำยม แต่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านถูกจำกัดอยู่เฉพาะ ภายในเขต จ.น่านเท่านั้น เพราะปริมาณน้ำราว 6 พันล้าน ลูกบาศก์เมตร ถูกรองรับไว้โดยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เช่นเดียวกับกรณีที่จ.เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นนกเตนทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่ อ.ดอยสะเก็ด สันกำแพง สันทราย แม่ริม และแม่แตง แต่อุทกภัยก็ถูกจำกัดอยู่แต่ภายในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูนเท่านั้น เพราะ น้ำทั้งหมดถูกรองรับไว้ด้วยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล โดยพื้นที่ท้ายน้ำทั้งที่ จ.ตาก และกำแพงเพชรไม่ได้รับ ผลกระทบจากน้ำจำนวนมหาศาลแต่อย่างใด ขณะที่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งเกิดจากพายุทั้ง 2 ครั้ง 2 คราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในพื้นที่ จ.แพร่ เท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปทั่ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ท้ายน้ำได้แก่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งถูกน้ำท่วมแล้วท่วมอีก ทั้งนี้เพราะลุ่มน้ำยมไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่จะรองรับน้ำจำนวนมหาศาล ไว้ได้เหมือนเช่น ที่มีในลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำน่าน แม้กรมชลประทานจะสามารถใช้วิธีผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่านผ่าน ทางคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำ ทั้งสองได้บ้างสำหรับเหตุการณ์แรก แต่สำหรับเหตุการณ์หลังที่มีฝนตกท้ายเขื่อนสิริกิติ์มากด้วย ทำให้แม่น้ำน่านก็มีปริมาณน้ำมากเช่นกัน วิธีดังกล่าวก็ช่วยอะไรไม่ได้ นี่คือเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ลุ่มน้ำยมขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ถึงตรงนี้คงไม่จำเป็นต้องย้ำอีกว่า เครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่ว่านั้นคืออะไร   สำหรับ อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นนกเตนนั้น มีผลกระทบ ต่อสภาพอากาศของประเทศไทยมากกว่าพายุโซนร้อน ไหหม่ามาก ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะคำนำหน้าชื่อพายุที่มีระดับความรุนแรงต่างกัน แต่เป็นเพราะพายุนกเตนเข้าถึงประเทศไทยโดยตรงขณะที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์ กลางยังอยู่ในระดับของพายุดีเปรสชั่น แต่พายุไหหม่าสลายตัวกลายเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเข้าถึงประเทศไทย อิทธิพลที่มีต่อสภาพอากาศ จึงน้อยกว่ากันเป็นอันมาก อิทธิพลของพายุนกเตนทำให้เกิดฝนตกหนักเกือบ ทั่วประเทศ เป็นเหตุทำให้เกิดอุทกภัยทั่วไปใน 16 จังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า (Muifa) ซึ่งเป็นชื่อมาจาก มาเก๊า แปลว่า ดอกพลัมบาน ไม่เข้ามาซ้ำเติมอีกระลอกหนึ่ง หากไม่เช่นนั้น ประเทศไทยคงไม่รอดพ้นจากอุทกภัยทั่วทั้งประเทศเป็นแน่ พื้นที่ลุ่มภาคกลางและกรุงเทพมหานครก็คงมีสิทธิ์เดือดร้อนจากอุทกภัยนี้ด้วย เช่นกัน   สถานการณ์ น้ำท่วมในปีนี้ เชื่อว่ายังคงไม่สิ้นสุดเพียง แค่นี้ เพราะขณะนี้เพิ่งเข้าสู่กลางฤดูฝน โอกาสที่ฝนจะตกยังมีอีก 3 เดือน และที่สำคัญยังเป็นช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเข้ามาถึงประเทศไทยได้สูง ที่สุดด้วย โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมซึ่งมีสถิติสูงสุดที่พายุหมุนเขตร้อนเข้าถึงประเทศไทย ได้ (เฉลี่ยปีละลูก) ซึ่งนั่นหมายความว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่จะต้องเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งพื้นที่เสี่ยงสูงที่สุดก็คือ พื้นที่ ลุ่มภาคกลางและกรุงเทพมหานครนั่นเอง   แต่ ถ้าหากไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเฉียดเข้ามาใกล้ๆ ประเทศไทยอีกในปีนี้ ก็นับว่าโชคดีไป แต่ถ้าเกิดมีเฉียดเข้ามาติดๆ กันหรือเข้ามาถึงประเทศไทยได้สักลูก 2 ลูก สถานการณ์ของอุทกภัยจากพายุหมุน เขตร้อนไหหม่าและนกเตนคงจะถูกลืมเลือนไป นั่นหมายความว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ที่หนักกว่ารุนแรง กว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมั่นใจว่า กรมชลประทานและกรมบรรเทาสาธารณภัยคงมีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เว้นเสียแต่จะมีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือ ความคาดหมายไปกว่านี้ปรากฏขึ้นมาซ้ำเติมอีก ดังนั้น แม้สถานการณ์ขณะนี้จะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจประมาทได้  ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร  คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้รูปภาพประกอบ : thairath.co.th
1 มกราคม 2557     |      3693
ลานีญา ยังคงคุกคามประเทศไทยในปี พ.ศ.2555
สถานการณ์ความผันแปรของสภาพอากาศ ของประเทศไทยตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2553 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้นั้น เป็นที่แน่ชัดว่า เกิดจากอิทธิพลของลานีญา (La Nina) ทั้งนี้เพราะความผันแปรของสภาพอากาศตลอดปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ สองสามประการที่บ่งชี้ว่า ต้นเหตุเกิดจากอิทธิพลของลานีญา อย่างแน่นอน ดังนี้   ประการแรกคือ อุณหภูมิอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ ปี พ.ศ. 2554 อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยมีความผันแปรผิดปกติ มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพราะเป็นปีที่มีอากาศหนาวยาวนานจนถึงกลางเดือน มีนาคม ซึ่งนับว่าผิดปกติอย่างมาก เนื่องจาก ปกติในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศจะหนาวเย็น ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมจัดเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย แต่กลางเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2554 เกิดอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างฉับพลันทั่วทุกภาคของประเทศ   สาเหตุมาจากลมตะวันตกกำลังแรงที่พัดมาจากเทือกเขาหิมาลัยผ่านเข้ามาทางตอน เหนือของประเทศไทย และปะทะเข้า กับมวลอากาศเย็นของความกดอากาศสูงกำลังแรงที่แผ่ลงมาจากประเทศจีนเข้าปกคลุม ประเทศไทยหลายระลอก จากการตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงดังกล่าวอุณหภูมิอากาศต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสเกือบทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง (ตั้งแต่กรุงเทพฯขึ้นไป) และมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เกือบทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและบางจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอน ล่างและภาคอีสาน จึงทำให้กล่าวได้ว่า เกิดอากาศหนาวกลางฤดูร้อน ขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554   เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเป็นอิทธิพลโดยตรงของลานีญา ซึ่งตรงกันข้ามกับปีที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง เพราะปี พ.ศ. 2553 จัดเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบทศวรรษของประเทศไทย (แม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 6) โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนสูงถึง 30.8 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าปกติถึง 1.4 องศาเซียลเซียส จัดเป็นอันดับสองรองจากปี พ.ศ. 2501 เท่านั้น และอุณหภูมิสูงสุดที่ตรวจวัดได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ที่ อ.เมือง จ.ตาก สูงถึง 43.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทย (44.5 องศาเซลเซียส) ประการที่สอง ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ฤดูฝนของปี พ.ศ. 2554 มีฝนตกชุกมากและผิดปกติมากที่สุด โดยภาพรวมของทั้งประเทศ ฤดูฝนปีนี้มีปริมาณฝนสะสมสูงถึง 1,822 มม. ซึ่งสูงกว่าค่าปกติ ถึงร้อยละ 28 โดยภาคอีสานมีฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 24 ขณะที่ภาคกลางสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 26 และสูงกว่าค่าปกติมากถึงร้อยละ 42 สำหรับภาคเหนือ นี่คือต้นเหตุที่แท้จริงของมหาอุทกภัยในปีนี้ เพราะตามปกติฤดูฝนในส่วนพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย (ทั่วทั้งประเทศยกเว้นภาคใต้) จะอยู่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยแต่ละเดือนจะมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 100 มม.ขึ้นไป   แต่ปีนี้กลับมีฝนตกหนักตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งนับว่า ผิดปกติเป็นอย่างยิ่งเพราะยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน (แล้ง) โดยเฉพาะ ในภาคเหนือและภาคกลางมีฝนตกในเดือนนี้มากกว่าค่าปกติถึงสามเท่า และตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนตุลาคมก็ยังมีฝนตกมากกว่าค่าปกติทุกเดือน ด้วย ยกเว้นเพียงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมของภาคกลางเท่านั้น ที่มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติเพียงเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้สถานการณ์มหาอุทกภัยผ่อนคลายลงได้ ไม่เช่นนั้นมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้คงยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกจนถึงสิ้น ปีอย่างแน่นอน เหตุการณ์เหล่านี้ยืนยันถึงอิทธิพลโดยตรง ของลานีญาอย่างชัดเจน   ในปี พ.ศ. 2554 นี้ มีฝนตกหนักผิดปกติในเดือนมีนาคมของพื้นที่ภาคใต้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5 ถึง 10 เท่า (ทำลายสถิติ มากมายเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่) ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขึ้นในเดือนมีนาคม เหตุการณ์นี้จึงต้องถูกบันทึกเป็น น้ำท่วมกลางฤดูแล้งของภาคใต้ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่า จะเกิดขึ้นได้อีกโดยง่าย แต่เป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงอิทธิพล ของลานีญาอย่างชัดเจนอีกเช่นกัน   ส่วนฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในช่วงเดือนธันวาคม และเดือนมกราคมนั้น แม้จะถือเป็นเรื่องปกติ แต่ปริมาณฝนที่ตก ก็ค่อนข้างมาก (สูงกว่าค่าเฉลี่ย) ในหลายพื้นที่ และนอกจากนี้ยังมี ปรากฏการณ์คลื่นลมแรงตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย) บางพื้นที่มีคลื่นสูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งแถบจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา และแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายเป็นอันมาก   ประการที่สาม ความแปรปรวนของพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ปี พ.ศ. 2554 พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวค่อนข้างมากในช่วงต้นฤดู แต่กลับขาดหายไปอย่างรวดเร็วในช่วง ท้ายฤดู (โดยปกติช่วงฤดูพายุหมุนเขตร้อนจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม) และที่ยิ่งผิดปกติไปกว่านั้นก็คือ ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเคยเป็นช่วงที่มักมีพายุหมุนเขตร้อน เข้าถึงประเทศไทยได้และมักสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย แทบทุกปี แต่ปีนี้กลับไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ในเดือนตุลาคมจะเกิดพายุโซนร้อนบันยัน (Ban Yan) ขึ้นในทะเลจีนตอนใต้แต่ก็สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว และแม้แต่พายุไต้ฝุ่นวาชิ (Washi) ที่ก่อตัวขึ้นในเดือนธันวาคม สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ตอนใต้อย่างมากมายมหาศาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน แต่พายุวาชิก็มาสลายตัวในทะเลจีนตอนใต้ใกล้ๆ ประเทศเวียดนาม แม้ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าอิทธิพลของลานีญามีผลต่อการก่อตัวและการเคลื่อนที่ของ พายุหมุนเขตร้อนโดยตรง แต่ความแปรปรวนที่ปรากฏก็น่าเชื่อได้ว่า อิทธิพลของลานีญาน่าจะมีส่วน เกี่ยวข้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย   แม้ปรากฏการณ์ ลานีญา ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 นี้จะมี ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางก็ตาม แต่เป็นลานีญา ที่เกิดขึ้น ทันทีที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (EL Nino) สิ้นสุดลง และคงสภาวะอยู่เป็นเวลาที่ยาวนานกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะปกติลานีญา จะเกิดขึ้นและยุติลงภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี แต่ครั้งนี้เกิดปรากฏการณ์ ลานีญา ขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2553 และคงสภาพยาวนานข้ามปี พ.ศ. 2554 และจากการติดตามสถานการณ์ ENSO (El Nino / La Nina) อย่างใกล้ชิดของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ขณะนี้ ศูนย์พยากรณ์ส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ลานีญา จะยังคง สภาวะอยู่ต่อไปจนถึงกลางปี พ.ศ. 2555 รวมเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ ครั้งนี้จึงยาวนานถึง 2 ปี (ถ้าหากสถานการณ์ยุติลงตามที่ได้คาดการณ์ไว้) ซึ่งนับได้ว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ลานีญา ที่เกิดยาวนานมากผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยยังคงต้อง ถูกคุกคามจากอิทธิพลของลานีญาต่อไปอีกครึ่งปีเป็นอย่างน้อย   ดังนั้น ปี พ.ศ. 2555 นี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นและฝนตกหนักกว่าปกติ และต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยต่อไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัยผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
1 มกราคม 2557     |      2897
ทั้งหมด 2 หน้า